ไม่เอา ไม่เกม

พิมพ์บลอกตามกระแสโซเชียลอีกครั้ง กับเรื่อง “หมอไม่เกม” ที่มีการสร้างกระแสต่อต้านเกมอย่างต่อเนื่อง ไม่ขอเล่าความเป็นมา อยากรู้เรื่องลอง google หา Dad mom and kids เอานะ เพราะวันนี้เราจะมาวิเคราะห์แบบคนไม่มีความรู้ ไม่ใช่หมอ และติดเกมกัน

ทัศนคติต่อต้านแบบสุดโต่ง

คนมีปมในวัยเด็ก ที่โดนพ่อห้ามเล่นเกม ลูกเลยห้ามเล่นตาม ศัพย์เทคนิคสวยๆไม่มีครับ ให้ลองนึกถึงกิจกรรม “รับน้อง” ที่มักเป็นข่าวตามฤดูกาล (ถ้ารับน้องดีและปกติคงไม่เป็นข่าว) เด็กคนอื่นสามารถใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานสมวัยได้ แต่ตัวเองถูกเลี้ยงเป็น “บ่อเงิน บ่อทอง” ถ้าเปรียบเทียบกับสัตว์ก็เหมือนตัวเองเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร ในขณะที่คนอื่นเป็นสัตว์เลี้ยงน่ารักตามบ้านที่คนเลี้ยงเขาเอ็นดูแหล่ะมั้ง

อับอายกับความพ่ายแพ้ ชีวิตในวัยเด็กที่มีแต่ความเคร่งเครียดมุ่งเรียนแต่หนังสือ “แต่เสือกสอบเตรียมอุดมฯไม่ติด” ทั้งที่ตัวเองกระเสือกกระสน wanna be แต่พบแต่ความผิดหวัง ในทางกลับกันคนที่วันๆชีวิตชิลล์เลิกเรียนกลับบ้านกินข้าวดูทีวีต่อวีดีโอเกมเล่นนิดหน่อยก่อนนอนดันเรียนได้ดีกว่าสอบได้ดีกว่า แต่ก็มั่นหน้าว่าตัวเองแน่เหนือกว่าคนอื่นอีกนะ วิถีของ loser ย่อมไม่โทษ loser แต่มักจะโทษสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง ถ้าไม่ “เขลา” พอน่าจะคิดออกว่าตัวเองล้มเหลวในคราวนั้นทั้งๆที่ไม่ได้เล่นเกมเกิดจากอะไร

เปรียบเทียบความสำเร็จกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน แล้วสู้ไม่ได้ อยากเป็นอย่างเขา

อยากดังแต่ความสามารถไปไม่ถึงก็ทำให้อื้อฉาว ประเด็นนี้ตัดออกไม่ได้เลยทีเดียว เหมือนการโปรโมตหนังที่วิ่งแก้ผ้าตามอนุสาวรีย์ หรือรถแบกไดโนเสาร์กลางเมืองถูกปรับนิดนึง ด่านิดหน่อย แต่คนไทยลืมง่ายอย่างน้อยเอาชื่อให้อยู่ในกระแสวิจารย์สักพัก ไม่นานคนไทยก็จะลืมไปเองว่า “ชื่อคุ้นๆแฮะ แต่จำไม่ได้ว่าคุ้นชื่อเพราะเรื่องอะไร” สุดท้ายพอมีชื่อมีสินค้าออกมาคนก็จะ “ลองซื้อไปดูซิ ไม่กี่บาท เผื่อนึกออกว่าพูดถึงเรื่องอะไร” เป็นการตลาดแบบ Viral Marketing ที่พบเห็นได้บ่อยในปัจจุบัน เคยเห็นหมอคิวทองที่มีชื่อเสียงโฆษณาตัวเองผ่านสื่อโซเชียลรัวๆไหมล่ะ ไม่ต้องโฆษณางานก็เข้ามาแบบไม่ได้พักอยู่แล้ว

ใครไม่เหมาะที่จะเล่นเกม

“บุตรใดที่มีพ่อแม่โง่เกินกว่าจะจัดการเวลาให้ได้ บุตรนั้นไม่ควรเล่นเกม” สมัยเด็กผมกับพี่เริ่มจากการเล่นเกมตอนพ่อทำงานเสร็จบนคอมพิวเตอร์ขนาด harddisk 1024kb จอเขียว  จากเกมภาษาอังกฤษเล็กๆไปจนวาดรูปเล่นบน storyboard จนมาถึงยุคเครื่องคอนโซลก็จะได้เล่นตอนสุดสัปดาห์วันละ 8 ชั่วโมงแต่ต้องพักสายตาทุกสองชั่วโมงนะ เหตุที่สามารถเล่นได้เต็มวันเพราะหากการบ้านยังเหลือก็ต้องทำเสร็จก่อน ทำให้เมื่อกลับถึงบ้านผมกับพี่ก็เร่งทำการบ้านให้เสร็จเพื่อไม่ต้องติดเป็นภาระนี่แหล่ะ แต่หากจัดการเวลาให้ลูกไม่ได้ก็ตัดออก ดีครับ ง่ายดี มักง่ายดี เหมือนถ้ากลัวลูกหลงทางก็ไม่ต้องพาออกจากบ้านเพราะตัวเองไม่มีปัญญาดูแลลูกตอนอยู่ข้างนอกนั่นแหล่ะ

เกมกับการแข่งขัน

ลงรากลึกถึงคำว่าเกมนิดนึงในที่นี้เชื่อว่าหมอไม่มีความรู้ความเข้าใจพอที่จะแยกวีดีโอเกมออกจากเกมได้ คงไม่ต้องพูดถึงเรื่อง “game theory” เกมที่แท้จริงมันคือการแข่งขันในชีวิตประจำวันนี่แหล่ะครับ  เกมกีฬา เกมชีวิต มันครอบคลุมเกือบทุกอย่างที่เป็นการแข่งขันนั่นแหล่ะ เอาน่ะ มาถึงเรื่อง electronic game ที่ต้องการจะแขว่ะ (อ้อ ไอ้ที่หมอต้องการสื่อถึงมันแค่ video game นะ มันคือการสื่อเกมออกมาเป็นภาพการตอบสนองแบบ interactive) มันก็การจำลองเกมลักษณะอื่นให้ออกมาเป็นภาพนั่นแหล่ะ

Loser gonna lose “ยิ่งเล่นยิ่งเครียด หายใจสั้นและตื้น เพราะต้องลุ้นตลอดเวลา ความดันโลหิตพุ่งสูงขณะเล่น หงุดหงิดหลังเล่นเสร็จเพราะพบว่า รายงานและการบ้านยังไม่เสร็จ สอบพรุ่งนี้ก็ยังไม่ได้อ่าน” การลุ้นและความดันโลหิตขึ้นมันไม่ดีคงไม่มีใครเล่นกีฬาที่เป็นการแข่งขันแล้วล่ะมั้ง ไปวิ่งตามสวนลุมฯแค่นั้นพอ ความทะเยอทะยานของมนุษย์ย่อมต้องการไต่เต้าไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หากวันนึงคุณชนะสิ่งใดย่อมต้องการหาสิ่งท้าทายใหม่ๆมาให้พิชิตต่อ แต่ถ้าแพ้ตั้งแต่เกมแรกแล้วหมดใจยอมแพ้ทันทีโดยที่ไม่คิดจะลองพยายามใหม่แล้วต่อต้านในสิ่งที่ตัวเองแข่งแล้วแพ้ก็ง่ายๆเลยครับ เกลียดการแข่งขันเพราะมันขี้แพ้ไง 

ความสำเร็จคืออะไร

ความสำเร็จในชีวิตสำหรับผมคือการพึงพอใจกับตัวตนที่เป็นอยู่ หากต้องการเป็นคนอื่นที่ตัวเองยังไม่ได้เป็น แน่นอนครับว่าคนแบบนั้นเรียกตัวเองว่าประสบความสำเร็จยังไม่ได้ เพราะยังไม่ถึงจุดหมายที่ตัวเองต้องการเลย การที่คุณเป็นหมอไม่ได้แปลว่าคุณประสบความสำเร็จกว่าคนอื่น ลองถามตัวเองสิว่ามหาตมะคานธีหรือแม่ชีเทเรซ่าถือว่าประสบความสำเร็จรึเปล่า มีเงินถุงเงินถังแต่คนด่านับหมื่นยังมองว่าตัวเองประสบความสำเร็จสินะ (ถ้ามีนะ แต่ถ้าไม่มีเงินด้วยโดนด่าด้วยนี่ยิ่งน่าคิด อิอิ)

รอดูลูกคุณเกม

“คนส่วนใหญ่เล่นเกม ดังนั้นหากลูกคุณเล่นเกมชีวิตก็จะล้มเหลวแบบคนส่วนใหญ่” ทั้งๆที่ลูกตัวเองก็ยังไม่ได้พิสูจน์อะไรว่าสิ่งที่ทำมันทำให้ลูกประสบความสำเร็จ เมื่ออยากขายหนังสือจนเอาชีวิตลูกตัวเองมาเป็นเบี้ย ความสำเร็จที่ได้พบ ก็ตามนี้ ว้า เกมก็ไม่ได้เล่น สอบก็ไม่ติด เวลาเล่นเกมเอาไปอ่านหนังสือยังได้แค่นี้น่าเอาหัวไปเขกเต้าหู้ ตามรอยพ่อเป๊ะไปมั้ย สอบไม่ติดน่ะเรื่องธรรมดาสำหรับโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง แต่เด็กที่พ่อแม่ปั้นมาเหมือน “เกิดมาเพื่อการณ์นี้” แต่ดันล้มเหลว โตมาจะไม่กลายเป็นคน nothing รึนั่น เอาเป็นว่าแค่ฉากแรกก็ “เกม” ไปละ ถ้ายังไม่รู้สึกตัวก็น่ารอดูฉากต่อๆไปว่าถ้าเกมแล้วเกมอีก มันจะเกมโอเวอร์ รึเปล่า ถึงตอนนั้นคงไม่มาโทษเกมอีกนะ

แล้วคุณเลี้ยงลูกอย่างไร

ในฐานะของคนเพิ่งเป็นพ่อได้สองเดือน ผมจะเลี้ยงลูกแบบที่พ่อกับแม่ผมเลี้ยง ให้ดูการ์ตูน เล่นเกมด้วยความเอาใจใส่ ไม่ปิดกั้น แบบที่เด็กควรจะเป็น (หรือขุดหากระดูกไดโนเสาร์ในสวนที่บ้าน) เพราะมีพี่ที่เก่งอยู่แล้วเลยไม่รู้สึกมีความกดดันใดๆในการเรียนด้วยล่ะมั้ง ทุกวันนี้ก็ยังอ่านการ์ตูน เล่นเกมอยู่ มีความสุขดี แต่ยอมรับว่ายังไม่ประสบความครับ เพราะเป้าหมายผมคือการที่มีเงินใช้เงินเที่ยวอย่างหรูหราโดยที่ไม่ต้องทำงานน่ะสิ 555

ปล.ดูไว้ครับไม่ค่อยมีให้เห็นกับเอา Dad ขึ้นก่อน Mom สุภาพบุรุษดีจัง

คนดีไม่เนรคุณ

ทุกวันนี้ในสังคมอินเตอร์เนตคงไม่มีใครปฎิเสธว่ารู้จักเฟซบุ้ค และวันนี้ก็เป็นอีกเช้าวันหนึ่งที่ผมเข้าเวบเฟซบุ้คแบบที่ทำปกติทุกวัน อ่านข่าวอัพเดตชีวิตเพื่อนไปเรื่อย ทั้งชีวิตส่วนตัว รูปภาพสวยๆ เห็นคนมีความสุขดูแล้วก็เพลินดี และแน่นอนว่าทุกคนต้องมีเพื่อนประเภท “คนดีมีข้อคิด” วันนี้เลยขอนำเสนอเรื่อง “คนดีไม่เนรคุณ” ครับ

จากการคาดเดาล้วนๆ น่าจะมาจากดราม่าหมอบกราบของเนติวิตย์ล่ะมั้ง เพราะเห็นมีการพูดถึงการแสดงความเคารพแบบ “จารีตอันดีงามความเป็นไทย” กับ “แสดงความเคารพแบบฝรั่ง” ถ้าพูดถึงการนำเข้าวัฒนธรรมจริงๆ มันก็การส่งผ่านการหมอบกราบจากอินเดียมาเป็นคติเทวราชของขอม กับแสดงความเคารพแบบสากลของฝั่งตะวันตก ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ จะเป็น “ขี้ข้าขอม” หรือ “ขี้ข้าฝรั่ง” ก็แล้วแต่สิทธิส่วนบุคคลที่จะเลือก (แต่ถ้าเลือกไม่เหมือนตัวก็คือคนเลวนะ ฮา) ประเด็นที่จะ “บ่น” วันนี้เป็นเรื่องตรรกะของ “เนรคุณ” มากกว่าครับ

ขอเล่าโดยผ่านแบคกราวน์ของ “คนดีมีข้อคิด” คนนี้แล้วแยกเป็น 2 ประเด็นคือ “เนรคุณสถาบัน” และ “เนรคุณชาติ” นะครับ (ในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงเนรคุณจริงๆนะ แต่ใช้คำแบบที่เขาใช้เพื่อแดกดันเฉยๆ)

คงทราบกันดีว่าสถาบันอุดมศึกษาของไทยนั้น รัฐต้องดูแลค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ในค่าเทอม 12,000 (สมัยนี้ 26,000 แล้วสินะ) ที่จ่ายไปนั้นไม่เพียงพอที่จะส่งนิสิตคนนึงเรียนรู้จนจบรับปริญญาได้หรอกครับ เพราะมันคือการลงทุนของรัฐที่ต้องการผลิตบุคลากรด้านต่างๆ ออกมาขับเคลื่อนประเทศ วิชาชีพใดที่รัฐต้องลงทุนมากหน่อยก็อาจต้องทำงานชดใช้หลังเรียนจบไป เพื่อให้จบออกไปอย่างมีคุณภาพแทบทุกหลักสูตรก็ต้องมีการทดลองในวิชาแลบเพื่อเทียบกับทฤษฎีที่เรียนมาซึ่งก็เป็นข้อดี ตรงจุดนี้คนดีมีข้อคิดเขาทำอย่างไรล่ะ

ลอกแลบรุ่นพี่

ก่อนเริ่มการทดลองคนดีมีข้อคิดเสนอก่อนเลยคือการ “ลอกแลบรุ่นพี่” ที่เรียนดีและกิ๊กกั๊กกันอยู่ ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่ได้สนใจอะไรเท่าไหร่ เพราะโดยพื้นเพผมก็ไม่ใช่คนตั้งใจเรียนอยู่แล้ว แต่วันนั้นทำให้เพื่อนผมโกรธมากเลยครับ ในเมื่อวัสดุที่จะทดลองพร้อม เวลาวิชาแลบก็มี ทำไมไม่ลองทำ สุดท้ายแยกทำครับ อยากลองก็ลอกไปคนเดียว ส่วนคนอื่นในกลุ่มก็ทดลองแล้วใช้ตามผลที่ได้จริง พอจบมาผมก็เริ่มเข้าใจแล้วล่ะครับว่าทำไมเพื่อนถึงโกรธ นี่คือจุดเริ่มต้นของ “คนดีมีข้อคิด” ครับ

ลงทุนเพื่อวิศวกร แต่ได้โปรโมเตอร์กลับมา

โอเค หลังจากที่จบการศึกษามาแล้ว จะใช้ทรัพยากรคุ้มค่ากับที่รัฐลงทุนรึเปล่าไม่รู้แต่ก็จบมาละ สมประสงค์ทีรัฐลงทุนไปเพื่อผลิตวิศวกรคนนึง แอ่น แอน แอ๊น สิ่งที่รัฐได้มาครับ “สาวดัชชี่เกิร์ล” สาวสวยนักพูดกับงานที่ไม่ได้ใช้ความรู้ตามวิชาชีพที่เรียนมาเท่าไหร่ (เปรียบเทียบให้เห็นภาพเฉยๆ ไม่ได้ว่าสาวดัชชี่เกิร์ลไม่ดีนะ) อ้าวเฮ้ย ซื้อม้าได้ล่อ แต่กลับด่าคนนู้นนี้ว่าเนรคุณสถาบัน ขอยกมือขวาแนบอกแล้วพูดว่า “ดีจริงๆ” สามครั้งครับ ไม่ได้ว่าคนทำงานไม่ตรงสายไม่ดีนะครับ แต่เห็นพวกประกาศด่าคนอื่นเนรคุณสถาบันทั้งที่ตัวเองเป็นยิ่งกว่าโดยพฤตินัยก็เลยบ่นนิดนึง

ต่อมาเมื่อได้งานแล้วสิ่งที่ “คนดีมีข้อคิด” พูดต่อคือการ “เนรคุณชาติ” “รักแผ่นดิน” แต่เลือกกระโดดงับเงินเดือนสูงๆของเอกชนแล้วบอกว่าตัวเองเสียภาษีแพง ตรงนี้ขอพูดถึงเรื่อง “คุณค่าคน” ในแบบของผมเสริมเลยละกัน (มโนเอง ไม่ได้มีทฤษฎีอะไรรองรับนะ)

ผมทำงานเอกชน ได้เงินเดือน 20,000 บาท เสียภาษี 10% เป็นเงิน 2,000 บาท
ผมทำงานภาครัฐ ได้เงินเดือน 15,000 บาท เสียภาษี 10% เป็นเงิน 1,500 บาท
ตัวเงินที่รัฐเสียให้ผมคือเท่าไหร่ ลงทุน 15,000 ได้คืน 1,500 รัฐเสียไป 13,500 บาท !
แบบนี้ก็ทำงานเอกชนมีประโยชน์กว่าน่ะสิ
อันนี้ขึ้นกับ “คุณค่าของคน” แล้วล่ะ สมมุติผมมีความสามารถในการทำงาน 30,000 บาท
ผมทำงานเอกชน นายทุนได้ประโยชน์ 10,000 บาท รัฐได้ประโยชน์ 2,000 บาท
ผมทำงานภาครัฐ รัฐได้ประโยชน์ 30,000 – 13,500 = 6,500 บาท !!!

ต้องถามตัวเองแล้วครับว่าคุณทำงานได้คุ้มเงินแค่ไหน ถ้าความสามารถน้อยกว่าเงินก็เป็นภาระ แต่ถ้าคิดว่าความสามารถมากทำงานได้คุ้มเงินมาก ชอบอ้างรักชาติรักแผ่นดินก็เอาสมองตรงนั้นมาลงให้ภาครัฐสิครับ อย่าอ้างระบบไม่ดี ทุกอย่างเริ่มที่ตัวเรา ผมมีตัวอย่างก็อาจารย์ที่สอนผมนี่แหล่ะ ความรู้ระดับท้อปของรุ่น แต่เลือกที่เป็นอาจารย์เพราะอยากเอาความรู้นั้นถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อๆไป

ลองสังเกตุชีวิต “คนดีมีข้อคิด” ที่คุณรู้จักสิ การกระทำความเป็นอยู่กับข้อคิดที่ชอบพล่ามนั้นน่ะ

แทบจะสวนทางกันทุกคน

บ่นจบแล้วขอไปนั่งกินอาหารญี่ปุ่น ในเสื้อแบรนด์ฝรั่ง ตามจารีตอันดีงามของไทยนะครับ